จุดเด่นของอาหารอีสาน


ผมว่านี่คือการปรับตัวกับธรรมชาติ เอาสิ่งรอบตัวมากิน ไม่ต้องซื้อ แถมยังได้ประโยชน์อีก
ทีนี้มามองเรื่องรสชาติ คนอีสานเขาก็คำนึงถึงรสชาติ ต้องให้อร่อยด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าหยิบมากินเพื่อให้อิ่มไปมื้อๆ
ผมเข้าไปเห็นการกินของชาวบ้านที่หมู่บ้านกลางใหญ่ ที่ อ.ภูพระบาท อุดรธานี เป็นหมู่บ้านของชาวพวน ชาวพวนกลุ่มเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในแขวงคำม่วน ลาว ถูกนำเข้ามาอยู่ในอีสานและภาคกลางบางแห่ง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อไทยไปตีลาวครั้งใหญ่
ชาวพวนเมื่อถูกนำเข้ามาเผอิญได้อยู่ในทำเลที่ดี เพราะอยู่ใกล้ภูเขาภูพระบาท การอยู่ชายภูเขานี่อาหารค่อนข้างอุดมสมบรูณ์
ที่ผมเข้าไปที่นั่น เหล่าแม่บ้านเขากำลังทำของกินหลายอย่าง มีอย่างหนึ่งเป็นอาหารประเภทแกงอ่อม แกงอ่อมอีสานนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่แกงซดน้ำเหมือนแกงภาคกลาง หรือร้านอาหารอีสานในกรุงเทพฯ ที่ใส่น้ำแกงมาจนท่วมชาม
แกงอ่อมอีสานนั้นน้ำจะมีแค่ขลุกขลิก เวลากินจะปั้นข้าวเหนียวจิ้ม ให้ข้าวเหนียวมันชุ่มน้ำแกงอ่อม เพื่อให้ข้าวเหนียวมีรสชาติไปอีกแบบหนึ่ง
แกงอ่อมที่ผมได้กินเป็นแกงหอยจุ๊บ หอยจุ๊บที่ว่าก็คือหอยขมนั่นเอง ซึ่งการกินนั้นจะต้องดูดเนื้อหอยให้หลุดออกจากเปลือก มันจึงดังจุ๊บ จึงเรียกว่าหอยจุ๊บ
วิธีแกงเอาหอยขมที่ล้างสะอาดตัดปลายหรือก้นเปลือกหอยออกด้วย ใส่หม้อต้มน้ำไม่มากเพราะหลังจากสุกน้ำในตัวหอยจะออกมาอีก ใส่ข้าวเบือ ข้าวเบือคือข้าวเหนียวที่แช่น้ำจนเปื่อยแล้วมาตำให้ละเอียดที่ต้องใส่ข้าวเบือด้วยเพื่อให้น้ำแกงมันข้นขึ้น ใส่ผักแขยง ใส่น้ำปลาร้าหรือปลาแดก เติมเกลือนิดหน่อย อร่อยมากครับ บอกไม่ถูกว่าที่อร่อยนั้นมันมาจากน้ำหอยหรือผักแขยง หรือรวมๆ กัน มีรสปลาแดกหรือปลาร้าด้วย
แค่แกงอ่อมหอยจุ๊บนี่ก็แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า เป็นอาหารพื้นถิ่นจากธรรมชาติใกล้ตัวแท้ๆ หอยก็ไปเอามาจากแอ่งน้ำไม่ไกลจากหมู่บ้าน ผักแขยงก็เพิ่งไปเด็ดมาจากชายป่า ปลาแดกหรือปลาร้า ก็ทำเอง ไม่ต้องซื้อแค่ไปหามาเท่านั้นคุณค่าอาหารเพียบ
ฉะนั้นจึงอาจจะเป็นข้อสรุปได้ว่า การกินแบบง่ายๆ อย่างนี้นี่เองที่ทำให้คนอีสานเขาแข็งแรง บึกบึนทนแดด ทนฝน
แต่เมื่ออยู่ในกรุงเทพ กินอาหารอีสานก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่า เป็นอีสานรสแซ่บแบบกรุงเทพฯ สำหรับคนกรุงเทพฯ ถ้าอยากกินของแท้ต้องไปอีสานครับ กินถึงถิ่นแล้วจะติดใจ ติดใจแล้วต้องไปบ่อยๆ จะสนุกและชอบอีสานครับ